กม.ใหม่ “สรรพากร” ส่องบัญชีธนาคาร “แม่ค้าออนไลน์” รอคนไทยพร้อมกว่านี้จะดีไหม

กม.ใหม่ “สรรพากร” ส่องบัญชีธนาคาร “แม่ค้าออนไลน์” รอคนไทยพร้อมกว่านี้จะดีไหม

          จากร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะมีการบังคับให้ธนาคารหรือสถาบันการเงินให้ต้องส่งข้อมูล “ธุรกรรมลักษณะพิเศษ” ให้สรรพากร ผมมองว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่แค่จะมีผลกระทบแต่ออนไลน์เท่านั้น แต่อาจจะส่งผลต่อคนทั้งประเทศเลยทีเดียว จะกลายเป็นว่าใครก็ตามที่มีการโอนเงินเข้าไม่ว่าจะมีกี่บัญชีก็จะโดนนับรวมหมดทุกบัญชี หากมีการฝากหรือการโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้ง หรือตั้งแต่ 200 ครั้งและมีมูลค่ารวมตั้งแต่ 2,000,000 บาทขึ้นไป และทางธนาคารจะต้องส่งรายงานของคนคนนั้นไปให้แก่กรมสรรพากร

อย่างในวันนี้เวลาที่เราจะเปิดบัญชีธนาคารจะต้องใช้บัตรประชาชน และหากสังเกตดีๆ พอเราไปใช้ e-Banking ข้อมูลต่างๆ ของเราจะขึ้นมาทั้งหมด จึงคิดว่าเรื่องนี้มันจะไม่ได้กระทบแค่เฉพาะวงการออนไลน์แต่จะกระทบไปถึงคนทั้งประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ดูจะเป็นการเดินถอยหลังหรือตรงข้ามกับการที่ธนาคารพยายามกระตุ้นให้คนไทยมาใช้ cashless และยอมตัดรายได้ของตัวเองด้วยการไม่คิดค่าบริการ เพราะต้องการให้ทุกคนรวมถึงผู้ประกอบการหรือร้านค้าต่างๆ หันมาใช้ออนไลน์มากขึ้น แต่การที่สรรพากรออกกฎหมายนี้มามันเหมือนเป็นการถอยหลังเข้าคลอง เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการทั้งหลายไม่อยากที่จะใช้ไม่ว่าจะเป็นพร้อมเพย์หรือ QR Code เพราะทุกครั้งที่มีการใช้ก็เท่ากับการเริ่มต้นนับจำนวนครั้งของบัญชีแล้ว ในขณะที่รัฐพยายามกระตุ้นให้คนไทยมาใช้ออนไลน์และ cashless พร้อมเพย์ แต่กลายเป็นว่าสรรพากรกลับพยายามทำให้คนไทยส่วนหนึ่งหนีออกจากออนไลน์หรือไปใช้แนวทางการชำระเงินวิธีอื่นแทน

หากร่างฯ ดังกล่าวผ่านออกมานั่นหมายถึงว่าบรรดาพ่อค้าหรือแม่ค้าออนไลน์​ที่เคยใช้บริการธนาคารเป็นช่องทางในการรับหรือจ่ายเงิน เมื่อมีจำนวนครั้งของเงินที่เข้าออกถึงตามที่กำหนดไว้เมื่อไหร่ข้อมูลบัญชีของพวกเขาก็จะถูกส่งไปให้สรรพากรตรวจสอบ ซึ่งแนวทางในการรับมือของบรรดาร้านค้าหรือแม่ค้าออนไลน์ ผมว่าเราอาจจะเจอการที่เหล่าแม่ค้าออนไลน์ใช้วิธีเปิดบัญชีหลายๆ บัญชี โดยอาจเปิดเองหรือให้ใช้ชื่อญาติพี่น้องหรือคนอื่นๆ มาเปิดแทน แล้วกระจายเงินรายได้ที่ได้รับออกไปยังบัญชีต่างๆ เหล่านี้ ทั้งนี้ก็เพื่อหาทางหลบเลี่ยงไม่ให้สรรพากรตรวจสอบข้อมูลทางการเงินได้ นอกจากนี้ การตรวจสอบดังกล่าวยังอาจไปกระทบถึงธุรกิจอื่นๆ ที่เป็นสีเทาอย่างพวกพนันบอล แทงหวย หรือธุรกิจสีเทาแบบอ้อมๆ แบบอื่นๆ ไม่แน่ว่าอาจจะมีใครที่คิดทำ Startup ขึ้นมาเพื่อช่วยกระจายเงินส่วนนี้ออกไปก็ได้นะ

คิดต่อไปว่าถ้าพ่อค้าแม่ค้าเหล่านั้นหาทางรอดด้วยการเปลี่ยนจากการรับเงินเข้าบัญชีธนาคารไปเป็นการรับเงินเข้าทาง E-Wallet แทน เพราะ E-Wallet ไม่ต้องส่งข้อมูลให้สรรพากรแค่นี้ก็รอดพ้นได้ หรือสรรพากรจะออกมาเขียนกฎหมายเพื่อให้ไปคลุมผู้ให้บริการ E-Wallet เพิ่มอีก ผมว่าทีนี้พวกเขาอาจจะย้ายไป Wallet ต่างประเทศอย่าง PayPal หรือที่หนักหน่อยก็อาจจะหันมารับจ่ายกันด้วย CryptoCurrency ไปเลย แล้วทีนี้สรรพากรจะทำยังไง?

แต่ที่ผมค่อนข้างจะกังวลมากก็คือต่อไปเราจะอยู่ในประเทศที่มี privacy ที่ภาครัฐสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลและสามารถดึงข้อมูลในบัญชีเราได้หมดเลย ถ้ากฎหมายนี้ออกมาจริงๆ จะเกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง ธุรกิจต่างๆ จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน หลายธุรกิจอาจจะเลิกใช้ QR Code หันไปรับเงินสดเหมือนเดิม ในฐานะที่ผมทำงานด้านออนไลน์มานานและพยายามที่จะชักชวนให้หลายๆ คนมาใช้พร้อมเพย์ หรือ QR Code หรือ Mobile Banking พอทราบเรื่องนี้บอกได้เลยว่าถึงกับจุก

กฎหมายฉบับนี้อาจจะออกมาเพื่อจัดการกับคนกลุ่มหนึ่งแต่มันก็ส่งผลกระทบต่อผู้คนในวงกว้าง ซึ่งแน่นอนว่าจะทำให้คนบางกลุ่มมีแนวคิดที่จะเลิกใช้ระบบดิจิทัลหันมาใช้เงินสด หรืออาจยังใช้ดิจิทัลอยู่แต่จะไม่เอาเข้าธนาคารของไทยแล้วเพราะถูกตรวจสอบได้ อาจย้ายเงินออกไปนอกประเทศ หรือหันไปใช้พวก PayPal จริงๆ หรือย้ายเงินไปอยู่ในระบบอื่นๆ ที่รัฐไม่สามารถตรวจสอบได้ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเรากำลังจะเข้าสู่สังคม cashless กลายเป็นว่าครั้งนี้ออกมาเร็วเกินไป ดิจิทัลยังไม่โตเต็มที่เลย ผมว่าน่าจะรอเวลาอีกสัก 2-3 ปีให้ดิจิทัลได้เข้าแทรกซึมไปอยู่ในทุกธุรกิจเสียก่อน เราจะออกกฎหมายใดมาก็น่าจะเคลียร์กว่านี้ เพราะเวลานั้นทุกคนจะรับเอามาใช้หมดแล้ว ตามความเห็นส่วนตัวผมไม่เห็นด้วยกับกฎหมายตัวนี้และเชื่อว่ากลุ่มคนในธนาคารหรือที่เกี่ยวข้องก็น่าจะไม่เห็นด้วยเช่นกัน

ผมยังสนับสนุนให้มีการเสียภาษีอย่างถูกต้อง แต่กรณีนี้ผมว่าภาครัฐทั้งกรมสรรพากรและผู้ใหญ่ที่ดูแลหน่วยงานรัฐอย่างรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจควรต้องควบคุมและชั่งน้ำหนักดูก่อนว่าหน่วยงานไหนควรจะลุยเต็มที่ และหน่วยงานไหนควรจะเงียบๆ ไว้ก่อน รอให้คนไทยพร้อมกว่านี้และรับเทคโนโลยีอย่างเต็มที่เสียก่อน แล้วจึงค่อยๆ ออกมาทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องการเสียภาษีอย่างถูกต้องน่าจะเป็นการดีกว่า