กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จัดสัมมนาเรื่อง “การสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งในตลาดด้วยทรัพย์สินทางปัญญา” ให้ความรู้ เป็นที่ปรึกษา ตอบข้อสงสัย เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs เติบโตได้อย่างมั่นคง

กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จัดสัมมนาเรื่อง “การสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งในตลาดด้วยทรัพย์สินทางปัญญา” ให้ความรู้ เป็นที่ปรึกษา ตอบข้อสงสัย เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs เติบโตได้อย่างมั่นคง

IP IDE Center กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จัดสัมมนาเรื่อง “การสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งในตลาดด้วยทรัพย์สินทางปัญญา” เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 ณ ห้องศรีสุริยวงศ์ (ชั้น 11) โรงแรมตวันนา รามาดา กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา โดยได้วิทยากรที่เป็นกูรูด้านทรัพย์สินทางปัญญากับการสร้างธุรกิจนวัตกรรม ได้แก่ (1) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (2) รองศาสตราจารย์ ดร. ดวงหทัย เพ็ญตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ (3) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. รัฐ พิชญางกูร อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาให้ความรู้ คลายปมสงสัยแก่ SMEs และผู้สนใจที่เข้าร่วมอย่างคับคั่งกว่า 300 ราย

ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม (IP IDE Center) กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการ SMEs สร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจด้วยทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่ง IP IDE Center มีบริการให้คำปรึกษาและส่งเสริมด้านทรัพย์สินทางปัญญาแบบครบวงจรตั้งแต่

  1. การสร้างสรรค์ ให้ผู้ประกอบการสามารถนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และทรัพย์สินทางปัญญามาพัฒนาสินค้าและบริการของตนให้สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดระดับประเทศและระหว่างประเทศ
  2. การเข้าสู่ระบบการคุ้มครอง ให้ผู้ประกอบการเลือกวิธีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของตนอย่างเหมาะสมมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนและกระบวนการจดทะเบียนคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์
  3. การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ให้ผู้ประกอบการมีช่องทางในการจับคู่ธุรกิจและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การประเมินมูลค่าเพื่อเข้าถึงแหล่งทุน การอนุญาตให้ใช้สิทธิ เป็นต้น

ปัจจุบัน IP IDE Center ให้บริการหลัก 4 ด้าน ได้แก่

  1. TechnoLabให้บริการข้อมูลวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีจากฐานข้อมูลสิทธิบัตร การประเมินและวิเคราะห์แนวโน้มของเทคโนโลยี วิเคราะห์แนวโน้มเทคโนโลยีใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล เพื่อช่วยชี้เป้าให้ผู้ประกอบการ นักประดิษฐ์ นักวิจัย ให้สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับความต้องการของตลาดได้
  2. IdeaLab สร้างความพร้อมให้ผู้ประกอบการในการเป็นผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรม อาทิ การบ่มเพาะความเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม วิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของผู้ประกอบการ SMEs เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการได้พัฒนาสินค้าตอบสนอความต้องการของตลาดมากที่สุด
  3. ValueLab ให้คำปรึกษาแนะนำการเข้าสู่ระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา การประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อเข้าถึงแหล่งทุนและการจับคู่ธุรกิจ
  4. InterLab ให้คำปรึกษาเพื่อส่งเสริมและผลักดันให้ผู้ประกอบการเข้าสู่การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในระดับสากล เพื่อเตรียมความพร้อมในการรุกตลาดต่างประเทศอย่างเข้มแข็ง รวมทั้งการเจรจาไกล่เกลี่ยกรณีที่มีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศ ผ่านหน่วยงานเครือข่ายของกรมทรัพย์สินทางปัญญา

กรมทรัพย์สินทางปัญญามุ่งหวังให้ผู้คิดค้นไทยตระหนักและเข้าใจว่ากลยุทธ์การบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาที่ดีที่สามารถเปิดโอกาสสำคัญทางธุรกิจได้อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งมีความจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้ที่ผสมผสานทั้งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การตลาด กฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา

ในปีนี้ IP IDE Center มีแผนกิจกรรมที่สำคัญ เพื่อพัฒนา Ecosystem ด้านทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่

  1. จัดสัมมนาให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาแก่ผู้ประกอบการ SMEs จำนวน 400 ราย
  2. จัดทำ IP Portfolio วิเคราะห์ศักยภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของสิทธิบัตรไทยที่ยื่นจดทะเบียนและได้รับการประกาศโฆษณาแล้วในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ใช้ software AI ที่ทันสมัยจัดกลุ่ม เพื่อให้ทราบเบื้องต้นว่าศักยภาพของประเทศอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอะไร และเราจะพัฒนาให้เกิดการนำมาประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมได้อย่างไร
  3. คัดสรรงานจาก IP Portfolio มาพัฒนาต่อยอด 25 ผลิตภัณฑ์ ตามคู่มือการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์และการดำเนินธุรกิจ ซึ่งขับเคลื่อนด้วยทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรมสู่ Thailand 4.0 ซึ่งกรมฯ ร่วมกับสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดทำขึ้น และเผยแพร่เมื่อปีที่แล้ว
  4. จับคู่ธุรกิจงานที่ผ่านการพัฒนาต่อยอดกับภาคธุรกิจ (Business Pitching and Matching) ในงานมหกรรมทรัพย์สินทางปัญญา (IP Fair 2018) ระหว่างวันที่ 6-8 กรกฎาคม 2561 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา (นายทศพล ทังสุบุตร) กล่าวว่า “ปัจจุบันทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความมั่นคงระยะยาวให้กับธุรกิจท่ามกลางกระแสการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดโลก ซึ่ง SMEs ไทย รวมถึงผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบนิเวศนวัตกรรม (innovation ecosystem) จำเป็นต้องเรียนรู้และเข้าใจระบบและเทคนิคการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ตั้งแต่การสร้างสรรค์และพัฒนาความคิดสู่สินค้าและบริการที่เป็นนวัตกรรม การคุ้มครอง การสร้างตลาด การขยายธุรกิจด้วยการร่วมทุนหรือควบรวมกิจการและการพัฒนาต่อยอดอย่างต่อเนื่อง”

นอกจากนี้ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายังได้เผยอีกว่า “การจะบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ต้องอาศัยวิธีการคิด วิเคราะห์ และวางแผนอย่างเป็นระบบ ร่วมกับการใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ โดย IP IDE Center ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมให้บริการคำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรมอย่างครบวงจรแก่ SMEs เพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคอุตสาหกรรมอย่างมั่นคง ยั่งยืน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี แผนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล”