ภาษี E-Payment ถ้ายอมมาช้าสักหน่อย น่าจะได้พร้าเล่มงาม (กว่านี้)

  

ภาษี E-Payment ถ้ายอมมาช้าสักหน่อย น่าจะได้พร้าเล่มงาม (กว่านี้) รองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (e-Payment) กำหนดให้สถาบันการเงินรวมถึง Non-Bank ต้องแจ้งข้อมูลบัญชีเฉพาะบัญชีรายรับเงินเข้าในข่ายที่เป็นธุรกรรมพิเศษ

กฎหมายตัวนี้ได้กล่าวรวมไปถึง บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในประเทศไทย ใครก็ตามที่มีความเคลื่อนไหวในบัญชีการเงิน ดังนี้
เมื่อมีเงินฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้ง/ปี/ธนาคาร (เปรียบเทียบให้เห็นง่ายขึ้นก็คือ วันละประมาณ 8 ครั้งทุกวัน)หรือมีการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง/ปี/ธนาคาร และมียอดรวมของการรับฝากตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปจากการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ. เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งโดยส่วนตัวผมเห็นด้วยกับ พ.ร.บ. เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์ ที่มีการเรียกเก็บภาษีอย่างถูกต้อง แต่ในขณะเดียวกันผมก็มองว่ากฎหมายนี้ยังไม่เหมาะที่จะนำออกมาใช้ในช่วงเวลานี้ ซึ่งก่อนหน้านี้ ตามนโยบายของรัฐบาลได้มีการสนับสนุนให้มีการชำระเงินผ่านระบบคิวอาร์โค้ด (QR Code) เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับร้านค้าในการชำระเงิน ซื้อ-ขายสินค้า และปูทางให้ประเทศไทยเดินหน้าเข้าสู่สังคมไร้เงินสด

 

แต่เมื่อมีกฎหมายนี้ออกมา ทำให้เกิดความกังวลและส่งผลกระทบโดยตรงต่อบุคคลที่ทำธุรกิจและเป็นบุคคลธรรมดาอีกด้วย หมายถึงผู้ที่ทำการค้าของออนไลน์ในช่องทางต่างๆ ที่มีการเคลื่อนไหวทางการเงินตรงตามเงื่อนไข จะต้องถูกตรวจสอบโดยกรมสรรพากร ทำให้สถาบันทางการเงินทั้งเอกชนและภาครัฐ รวมไปถึงผู้ให้บริการทางการเงินต่างๆ ที่ขึ้นทะเบียนกับแบงค์ชาติ จะต้องส่งข้อมูลบัญชีเฉพาะบัญชีรายรับเงินเข้าในข่ายที่เป็นธุรกรรมพิเศษให้กับสรรพากร เพื่อดำเนินการตรวจสอบ

เมื่อกฎหมายตัวนี้ออกมาจึงสร้างความกังวลให้กับหลายๆ คนรวมทั้งตัวผมเองด้วยว่า ต่อไปเมื่อเราทำอะไรก็ตามที่มีมูลค่าเกิน 3,000 ครั้งต่อปี หรือ 400 ครั้งต่อปีและมียอดรวมเกิน 2 ล้านบาท ฉะนั้นบุคคลที่มีเงินเข้าหรือเงินฝากเข้ามาในบัญชีนะครับ (ไม่นับเงินออก) เกินเกณฑ์ที่บอกไป นั่นหมายถึงคุณมีความเสี่ยงทันทีแล้วเราจะรับมืออย่างไร ผมได้แยกเป็นหัวข้อให้ ดังนี้

1. เปิดบริษัทให้ถูกต้อง ใช้บัญชีธนาคารของบริษัทในการรับเงินเข้ามา แต่กฎหมายตัวนี้ก็ยังครอบคลุมไปถึงการนิติบุคคลอยู่ดี หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีและไม่ได้จดภาษีมูลค่าเพิ่ม สรรพากรก็จะรู้ข้อมูลทางการเงินได้เพราะธนาคารยังต้องส่งข้อมูลบริษัทของคุณเช่นกัน สรรพากรอาจเข้ามาตรวจสอบบัญชีของบริษัทหากไม่ตรงตามที่ชี้แจงไป คำแนะนำคือเงินที่เข้ามาในบัญชีธนาคารทุกรายการทั้งของตัวบุคคลและบริษัท จงเก็บข้อมูลเก็บหลักฐานเอาไว้ว่าเงินนั้นๆ มาจากแหล่งไหน มีการเสียภาษี หัก ณ ที่จ่ายอย่างถูกต้องหรือไม่

2. เก็บหลักฐานทุกอย่างไว้ หากเป็นบุคคลธรรมดาและเข้าข่ายว่ามีรายรับเกินแน่ๆ วิธีการเดียวกันคือเก็บหลักฐานไว้ และหากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทก็ควรต้องไปจดภาษีมูลค่าเพิ่มเสียให้เรียบร้อย หากเป็นเงินปันผลจากการซื้อขายหุ้นที่มีการหักภาษีไปแล้วก็ตามก็ควรมีหลักฐานว่านี่คือเงินปันผลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือจากบริษัทต่างๆ อยู่ดี สิ่งสำคัญคือหลักฐานทางการเงินเหล่านี้ต้องเก็บไว้อย่างดีเพราะหากวันใดวันหนึ่งสรรพากรเข้ามาตรวจสอบเงินในบัญชีของคุณและไม่มีหลักฐานยืนยันอาจโดนประเมินภาษีย้อนหลังได้ ทั้งหมดนี่ผมมองตามความเข้าใจในเรื่องภาษีของผมเท่านั้นนะครับ

ในแต่ละปีจำนวนคนไทยที่เสียภาษีประมาณทั้งหมด 60 ล้านคน
ซึ่งผู้ที่มีรายได้ประจำ มีจำนวน 8.2 ล้านคน ยื่นเสียภาษี 5 แสนคนโดยประมาณ
ผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำ มีจำนวน 2.5 ล้านคน ยื่นเสียภาษี 3 แสนคนโดยประมาณ
นิติบุคคล มีจำนวน 6.4 แสนราย ยื่นเสียภาษี 4 แสนราย

กฎหมายตัวนี้มองได้ในหลายๆ มุม หากมองในมุมของเจ้าของธุรกิจอาจจะค่อนข้างเจ็บปวดมากเพราะไม่เคยเสียภาษีมาก่อน หากมองในมุมมองภาครัฐก็ควรต้องมีการจ่ายภาษีให้ถูกต้อง แต่หากกลับมาย้อนมองพื้นฐานของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ปัญหาที่เกิดตอนนี้คือ ทำให้ราคาสินค้ามีต้นทุนเรื่องภาษีเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเปรียบเทียบกับแม่ค้าออนไลน์ที่หิ้วสินค้าเข้ามาไม่เสียภาษีทำให้มีราคาสินค้าต่ำกว่า

 

อย่างที่บอกตอนต้นว่าผมเห็นด้วยกับกฎหมายตัวนี้ แต่ยังไม่ควรออกมาในช่วงเวลาที่ e-Payment พร้อมเพย์ QR Code กำลังเติบโต หรือตอนนี้คนไทยกำลังนำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ ไม่ควรมีกฎหมายต่างๆ ไปทำให้เกิดความเกรงกลัวที่จะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ เราควรจะปล่อยให้การใช้ e-Money หรือ e-Payment ต่างๆ โตขึ้นไปอีกสัก 2-3 ปี เพื่อให้ประเทศไทยได้เข้าสู่จุดที่คนส่วนใหญ่มาใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ในการจ่ายเงิน และจะเป็นการช่วยกระตุ้นให้วงการ e-Commerce เมืองไทยโตขึ้นมาก เมื่อถึงจุดนั้นรัฐบาลค่อยมาออกกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการตรวจสอบเหล่านี้ดีกว่า