CEO TALK “อารยะ พุทธศรี”เจ้าของอาณาจักรตลาดนัดรถโบราณ

CEO TALK “อารยะ พุทธศรี”เจ้าของอาณาจักรตลาดนัดรถโบราณ

ผมมองว่าทุกๆธุรกิจไม่มีอะไรยากไม่มีอะไรง่าย แต่อยู่ที่เราว่าจะคิดว่าตัวเองทำได้หรือไม่ หากเราคิดว่าตัวเองทำได้ก็ต้องก้าวไป นิสัยคนไทยชอบปฎิเสธตัวเองคิดว่าตัวเองทำไม่ได้ทั้งที่ตัวเองยังไม่เรียนรู้ ซึ่งตัวผมเองไม่ได้จบทางด้านการตลาด จบศิลปะแค่ปวช.เท่านั้น ซึ่งหากถามว่าการตลาดมันยากมั้ยผมบอกเลยว่ายาก แต่ผมก็กล้าที่จะลงมือทำ ผมยึดหลักง่ายๆคือการบริหารแบบครอบครัว บริหารด้วยหัวใจ ผมคิดว่าวันนี้เป็นเจ้าของตลาดไม่ได้ หากไม่มีพ่อค้าแม่ค้าที่ยกให้ผมเป็นเจ้าของตลาด ดังนั้นการบริหารที่แท้จริงคือทำให้ทุกคนรู้สึกว่าเป็นคนในครอบครัว ผมเป็นเพียงคนที่ชี้แนะแนวทางให้ทุกคนเดินตาม แต่คนที่เป็นเจ้าของตลาดที่แท้จริงคือแม่ค้าพ่อค้าไม่ใช่ผม

 

การช้อปปิ้ง คนไทยนั้นไม่แพ้ชาติใดในโลก ดูได้จากจำนวนตลาดนัดยุคใหม่ สถานที่จับจ่ายซื้อของสุดอินเทรนด์ ที่ผุดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ ตลาดนัดกลางคืน แหล่งช้อปปิ้งของเหล่าวัยรุ่น วัยทำงาน ที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ สินค้าที่มาจำหน่ายก็มีหลากหลาย ในแต่ละที่ก็จะมีจุดเด่นแตกต่างกันไป วันนี้นิตยสารSMEs สร้างอาชีพ ได้รับเกียรติพูดคุยกับผู้บริหารตลาดนัดผู้มากความสามารถ ที่พลิกชีวิตจากเส้นทางพ่อค้าขายของเก่าย่านตลาดรถไฟ 200 ปี ล้มลุกคลุกคลานมากว่าสิบปี จนกิจการเติบโตขยับขยายมาเป็นเจ้าของตลาดนัด 3 แห่ง ไม่ว่าจะเป็น ตลาดนัดหัวมุมรถโบราณ เกษตร-นวมินทร์ ตลาดนัด
เซียร์รังสิต Walking street และตลาดนัดล้านนา มีนบุรี และยังได้เป็นที่ปรึกษาให้กับตลาดนัดอีกหลายแห่งในกรุงเทพฯนั่นก็คือ คุณโต อารยะ พุทธศรี

 

 

ก้าวแรกบนเส้นทางสายธุรกิจ

เรามักได้ยินเสมอว่า ชีวิตของคนเราต้องมีเป้าหมาย เพราะการมีเป้าหมายจะทำให้รู้ว่าชีวิตต้องเดินไปทางไหน กว่าจะมีอย่างทุกวันนี้ผมได้ผ่านอุปสรรคมากมาย ผมไม่ได้เป็นลูกคนรวย พื้นฐานการศึกษาก็เพียงระดับ ปวช. ศิลปกรรม จากนครศรีธรรมราชเท่านั้น มีเงินในกระเป๋าอยู่เพียง 1,500 บาท ตัดสินใจขึ้นรถทัวร์เข้ามาหางานในกทม. โดยที่ไม่รู้จักใครเลยมาก่อน เริ่มต้นงานแรกด้วยเงินเดือนเพียง 3,500 บาทเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่าย จึงมองหาสินค้ามาขายตามตลาดนัดเพื่อหารายได้เสริม

“เราโชคดีที่มีหลายๆคนสงสาร ให้เสื้อผ้า ให้รองเท้า ของเก่าต่างๆมาค่อนข้างเยอะ จึงนำสินค้าเหล่านั้นมาขายที่ตลาดรถไฟ 200 ปี ซึ่งยุคนั้นถือเป็นยุคแรกๆ ที่ขายของเก่าย่านนั้น ผมจำได้ว่าวันแรกสามารถขายได้ 120 บาท ซึ่งดีใจมาก มันทำให้เรามองเห็นว่าอาชีพนี้สามารถหล่อเลี้ยงเราได้ จึงตัดสินใจเริ่มทำธุรกิจค้าขายอย่างจริงจัง เริ่มมองหาแหล่งขายส่งของเก่าของสะสมและยึดอาชีพนี้จนกลายเป็น ผู้ผูกขาดซื้อของจาก
พ่อค้ารายย่อยมาวางไว้ในร้านตัวเอง”

 

 

จากพ่อค้าพลิกชีวิตจากพ่อค้าสู่ผู้บริหารตลาดนัด

โดยช่วงแรกเราไม่ได้คิดที่จะมาทำตลาดนัดเป็นของตัวเอง แต่พอดีมีน้องที่รู้จักได้ไปลงทุนเปิดตลาดขึ้น ปรากฏว่าไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร จึงได้ชักชวนให้ผมเข้ามาช่วยบริหารเนื่องจากผมรู้จักพ่อค้าแม่ค้าต่างๆ ค่อนข้างเยอะ น่าจะสามารถดึงพ่อค้าแม่ค้ามาเปิดขายสินค้าได้ และก็ไม่ผิดหวังมีคนสนใจที่จะมาขายกับเราเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเราจึงได้ทำการตลาดต่างๆเอาไว้อย่างเต็มที่ แต่ปรากฏว่าเจ้าของตลาดเกิดเปลี่ยนใจไม่ให้ผมเข้ามาบริหาร ดังนั้นทำให้ต้องยุบกิจการไป แต่ด้วยความที่เราได้ลั่นวาจากับพี่ๆน้องๆ เหล่าพ่อค้าแม่ค้าต่างๆ เอาไว้แล้ว เราจึงจำเป็นที่จะต้องหาพื้นที่ขายให้ได้ ซึ่งก็ได้พื้นที่ตรงเดอะวอล์ค เกษตร-นวมินทร์ โดยตลาดนัดของเราจะเน้นรูปตลาดนัดแบบรถโบราณ มีพ่อค้านำรถโบราณมาขายของ หรือขายของเก่าเป็นหลัก ซึ่งเปิดในวันอังคาร กับวันพฤหัสบดี ปรากฏว่าเพียงไม่นานกลับได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ตลาดนัดรถโบราณโดนผลักดันให้เป็นตลาดน้องใหม่ติดชาร์ทอันดับ 1 ในระยะเวลาเพียง 2 เดือน

 

 

แนวคิดในการลงมือทำธุรกิจ

สำหรับผมหัวใจสำคัญในการบริหารธุรกิจคือ 1. ต้องซื้อใจพ่อค้า แม่ค้าอยู่กับเขาเหมือนพี่น้อง ช่วยเหลือดูแลกัน 2. จัดสรรพื้นที่ให้เหมาะสมกับราคา และต้องไม่ค้ากำไรเกินควร คิดค่าเช่าในแบบที่พ่อค้า แม่ค้า สามารถอยู่ได้ โดยไม่ต้องไปบวกราคาสินค้าเพิ่ม (ค่าเช่าเริ่มต้นที่ล็อกละ 200 บาท) 3. สิ่งสำคัญของการบริหารตลาดนัดคือ การจัดวางสินค้าภายในตลาดอย่างเป็นระเบียบ น่าเดินช้อปปิ้ง ร้านค้าดูเป็นระเบียบ สะอาด น่าเดิน 4. การคัดเลือกสินค้าที่มีคุณภาพ เพราะแสดงถึงภาพลักษณ์ที่ดีของตลาด และส่งผลต่อยอดขายของพ่อค้า แม่ค้า ที่เพิ่มขึ้น 5. การอำนวยความสะดวก ที่จอดรถ การรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้า รวมถึงพ่อค้า แม่ค้าทุกคน โดยจะต้องมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจตราสอดส่องดูแลตลอดทุกชั่วโมง

 

 

ใจแลกใจ คือกลยุทธ์ในการบริหาร

ผมมองว่าทุกๆธุรกิจไม่มีอะไรยากไม่มีอะไรง่าย แต่อยู่ที่เราว่าจะคิดว่าตัวเองทำได้หรือไม่ หากเราคิดว่าตัวเองทำได้ก็ต้องก้าวไป นิสัยคนไทยชอบปฎิเสธตัวเองคิดว่าตัวเองทำไม่ได้ทั้งที่ตัวเองยังไม่เรียนรู้ ซึ่งตัวผมเองไม่ได้จบทางด้านการตลาด จบศิลปะแค่ปวช.เท่านั้น ซึ่งหากถามว่าการตลาดมันยากมั้ยผมบอกเลยว่ายาก แต่ผมก็กล้าที่จะลงมือทำ ผมยึดหลักง่ายๆคือการบริหารแบบครอบครัว บริหารด้วยหัวใจ ผมคิดว่าวันนี้เป็นเจ้าของตลาดไม่ได้ หากไม่มีพ่อค้าแม่ค้าที่ยกให้พี่เป็นเจ้าของตลาด การบริหารที่แท้จริงคือทำให้ทุกคนรู้สึกว่าเป็นคนในครอบครัว

“หลายคนถามว่าทำไมพี่ถึงสามารถบริหารตลาดได้หลายๆที่แล้วตลาดสามารถอยู่กันอย่างมีความสุข เดินแบบสบายๆไม่แออัด เพราะในมุมมองของการบริหารสำหรับพี่ พี่ไม่ได้มีความสุขกับเงินที่ได้มา แต่ผมมีความสุขกับสิ่งที่ผมเป็นอยู่ คือพ่อค้าแม่ค้าที่เห็นหน้ากันทุกวันแล้วสามารถขายได้ เห็นรอยยิ้มจากเขาเราก็สุขไปด้วย ผมเป็นเพียงคนที่ชี้แนะแนวทางให้ทุกคนเดินตาม แต่คนที่เป็นเจ้าของตลาดที่แท้จริงคือแม่ค้าพ่อค้าไม่ใช่ผม”

 

 

มุมมองการแข่งขันในปัจจุบัน

การทำตลาดนัดในยุคนี้ว่า การแข่งขันค่อนข้างสูง อยู่ที่ว่าใครได้ทำเลตรงไหน มีจุดขายอะไร ซึ่งการจัดอุปกรณ์ตกแต่งสถานที่กลายเป็นส่วนหนึ่งในการดึงดูด ทั้งพ่อค้าแม่ค้า และดึงดูดคนที่มาเดินช้อปปิ้ง จะเห็นได้จากปัจจุบันหลายๆ แห่งมีการจัดสถานที่ โดยมีการนำตู้คอนเทนเนอร์มาใช้แทนการก่อสร้างอาคาร เพื่อให้ได้ต้นทุนที่ต่ำที่สุด และยังสามารถรื้อถอนได้ง่าย ที่สำคัญดูดี และน่าเดิน ทำให้ช่วงหลังจะเห็นเทรนด์ตลาดนัดในแบบของตู้คอนเทนเนอร์มาแรง ส่วนการตกแต่งสไตล์ย้อนยุค หรือวินเทจ ก็ยังคงอยู่ โดยเฉพาะสไตล์วินเทจในแบบต่างประเทศ เจ้าของตลาดนัดหลายคนเริ่มจะศึกษาและเดินทางไปดูสถานที่จริงในต่างประเทศและซื้อของตกแต่งกลับมาและนำมาใช้เพื่อตกแต่งสถานที่ให้ดูเป็นสากลจริงๆ

สำหรับการขยายสาขานั้นจะเกิดขึ้นอีกไม่นานอย่างแน่นอน ตอนนี้ผมได้มองพื้นที่ 42 ไร่บนถนนพระราม 9 ไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งตลาดพระราม 9จะเป็นตลาดที่แตกต่างจากที่เราทำอยู่อย่างแน่นอน ซึ่งผมการันตีเลยว่าในประเทศไทยยังไม่มีอย่างแน่นอน