‘นิด้า’ จัดเสวนาร่วม รัฐ-เอกชน แนะ SMEs อยู่รอดท่ามกลางเศรษฐกิจไทยซบเซา

‘นิด้า’ จัดเสวนาร่วม รัฐ-เอกชน แนะ SMEs อยู่รอดท่ามกลางเศรษฐกิจไทยซบเซา

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2560 ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จัดงานเสวนา “สู่เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เสถียรภาพภายในประเทศกับการเชื่อมโยงในภูมิภาค” ที่อาคารนวมินทราธิราช ชั้น 14 ห้องประชุม 1 โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา เศรษฐปราโมทย์ (ผู้จัดทำ NIDA Macro Model) คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ,ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคาร CIMB ไทย จำกัด (มหาชน) ,ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหาภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง และ ศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ร่วมในงานวัตถประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้ก็คือเป็นการเผยแพร่งานวิจัยของทางนิด้าเกี่ยวกับมุมมองเกี่ยวกับเศรษฐกิจมหาภาคปัญหาและนโยบายหลักประโยชน์ต่างๆ  และก็แลกเปลี่ยนแนวคิดและมุมมองทางเศรษฐกิจกับทางผู้เชี่ยวชาญ ทั้งจากภาคส่วนของรัฐบาล และเอกชน รวมไปถึงสื่อมวลชน และประชนโดยทั่วไป

รองศาสตราจารย์ดร.ยุทธนาเปิดเผยว่า“ในสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบันส่งผลต่อกลุ่มธุรกิจ SMEsแน่นอน เรื่องที่วิทยากรหลายๆ ท่านพูดถึง ปัจจัยก็คือเศรษฐกิจในประเทศไทยตอนนี้มีความเสี่ยงในแง่ของการขยายตัวอยู่ อย่างที่ผ่านมามันมีการเจริญเติบโตอาจจะไม่เยอะมากนัก เพราะว่าเศรษฐกิจชะลอตัวลง จากปัญหาต่างๆ แต่ว่าตอนนี้มุมมองทางเศรษฐกิจก็เริ่มดีขึ้นบ้างแต่ประเด็นก็คือสื่งที่ดีขึ้นมาจากค่าการส่งออกของธุรกิจส่งออกรายใหญ่ๆค่อนข้างเยอะ ทีนี้กลุ่มธุรกิจ SMEs จะมีการปรับตัวอย่างไรที่จะปรับตัวและมีการลิ้งกับตัวธุรกิจเหล่านี้ และร่วมกันเติบโตด้วยกันอย่างยั่งยืน ซึ่งหลายๆ ท่านก็มีการเสนอมุมมองต่างๆ เช่น กระทรวงการคลัง มีการพูดถึงนโยบายแนวคิดการผลักดันของ ธุรกิจ SMEs ให้มีการปรับตัวให้เข้ากับตัวของธุรกิจปัจจุบันได้ จะทำอยางไรที่จะส่งเสริมธุรกิจ SMEs เหล่านี้ เป็นต้น

“การเติบโตของธุรกิจ SMEs ในปัจจุบันขึ้นอยู่กับสองปัจจัยหลัก คือ 1. การซัพพอร์ตบริการของประชาชน 2.นำเทคโนโลยีมาช่วยส่งเสริมการแข่งขันของตัวเอง ทั้งสองอย่างนี้เป็นสิ่งสำคัญ แต่สิ่งหนึ่งทีพูดถึงในการพัฒนาระบบ คือการเงิน หรือระบบบัญชีต่างๆเนี่ย เพราะปัญหาหลักของกลุ่มธุรกิจ SMEs คือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การเข้าถึงแหล่งสินเชื่อ ปัจจุบัน กระทรวงการคลัง รัฐวิสาหกิจ หรือธนาคารต่างๆ อย่าง CIMB เขาก็พยายามส่งเสริมในแง่ของการที่มีสินเชื่อของ SMEs แต่ปัญหาที่เขาพูดถึงหลายอันก็คือในแง่ของระบบบัญชี ระบบการเงินที่เชื่อถือได้และเป็นระบบที่เขาสามารถประเมินหรือให้สินเชื่อได้ อันนี้เป็นสิ่งที่กลุ่มธุรกิจ SMEs ในปัจจุบันยังให้ความสำคัญกับประเด็นนี้น้อย ซึ่งวิทยากรทั้งสองท่าน มีการพูดถึงตรงกันในตัวการพัฒนาระบบสำคัญ แล้วที่เขาเคยประชุม เคยช่วยเหลือ มันเกี่ยวข้องกับการที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับระบบบัญชี มันก็ช่วยให้สามารถที่จะมีต้นทุนหรือแหล่งทุนที่ดีขึ้นได้ และในการแข่งขันของ SME ในระยะยาว เพราะถ้าหวังพึ่งพาแหล่งทุนของตัวเอง หรือพึ่งพาทุนนอกระบบ ต้นทุนก็จะสูงเกินกว่าที่จะซัพพอร์ตได้ อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ ซึ่งงานสัมนาในวันนี้ก็มีการกล่าวถึงค่อนข้างเยอะ”

“สิ่งที่อยากฝากถึงกลุ่มธุรกิจ SMEs อย่างที่บอกก็คือเราคิดว่าเศรษฐกิจที่ผ่านมามันโตมาจากการส่งออกขนาด ใหญ่ ผลก็คือหลายคนกังวลว่ามันอาจจะไม่ยั่งยืน หลายคนก็เสนอว่าการเติบโตของธุรกิจคือการพัฒนาการเติบโตของธุรกิจรายย่อยให้สามารถตามทันรายใหญ่ และเศรษฐกิจโลกได้ ก็อยากจะฝากไว้ว่าบทบาทของ SMEs สำคัญพอๆกับบทบาทของรายใหญ่ เพียงแต่ต้องมีการปรับตัว มีการพัฒนาตัวเองให้เป็นไปตามมาตราฐานเหมือนกับรายใหญ่ เช่น ระบบการเงิน เทคโนโลยีต่างๆ มันก็เช่นเดียวกัน ถ้าเป็นแบบนั้นได้ กลุ่มธุรกิจ SMEs ก็เป็นบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนหรือผลักดันระบบเศรษฐกิจของประเทศได้”