ธุรกิจค้าปลีกแบบใหม่ของจีนน่าสนใจอย่างไร

ธุรกิจค้าปลีกแบบใหม่ของจีนน่าสนใจอย่างไร

          เมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมาผมมีโอกาสเดินทางไปเซินเจิ้น ประเทศจีน ได้อัปเดตข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่น่าสนใจหลายอย่างเลยทีเดียว ครั้งนั้นได้ไปเยี่ยมชมออฟฟิศของ Tencent ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีอันดับหนึ่งของจีน เป็นเจ้าของ WeChat หรือ WeChat Pay และยังเป็นเจ้าของบริษัทเกม RoV ที่หลาย ๆ คนคงรู้จักกันดี นอกจากนั้นยังได้ไปชมบริษัทที่เป็นสตาร์ทอัพเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านฮาร์ดแวร์ บริษัท UBTECH ทำเกี่ยวกับ humanoid robotic ได้ชมหุ่นยนต์ ฝีมือวิศวกรรุ่นใหม่ๆ ของจีน และอื่นๆ อีกมากมาย จากตอนแรกที่เคยได้ยินได้ฟังมาว่าประเทศจีนตอนนี้ล้ำหน้ามาก เมื่อได้ไปเห็นด้วยตาตัวเองอยากบอกว่าเขาไปไกลมากจริงๆ เทคโนโลยีของเขาล้ำไปมากจริงๆ

แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากและคิดว่าน่าที่จะเล่าสู่กันฟังก็คือโฉมหน้าการค้าของจีนในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปแล้ว ก่อนอื่นผมต้องเล่าก่อนว่าได้ตอนที่ไปเยือน Tencent นั้นเขาได้พาไปเยี่ยมชมซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีการนำ AI เข้ามาจัดการ เป็นซูเปอร์มาร์เก็ตที่ไม่ต้องมีพนักงานแบบเดิมๆ ไม่มีเคาน์เตอร์จ่ายเงิน การชำระสินค้าก็ใช้วิธีจ่ายด้วยแอปพลิเคชันซึ่งมีให้เลือกทั้ง WeChat Pay และ Alipay วิธีง่ายๆ คือเปิดแอปพลิเคชันในโทรศัพท์แล้วสแกนไปที่บาร์โค้ด เท่านี้ก็สามารถเดินออกจากร้านได้เลย หรือหากว่าลืมเอาโทรศัพท์มาก็สามารถใช้วิธีจ่ายด้วยใบหน้าหรือที่เรียกว่า Facial Recognition ก็สามารถทำได้ จากข้อมูลที่ได้ฟังจากการบรรยายคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะเปิดร้านค้ารูปแบบนี้ให้ได้ 100 สาขาทั่วประเทศจีน

หลายคนคงเคยได้ยินคำนี้กันมาบ้างแล้วคือ New Retail ที่แจ็ค หม่าได้เคยพูดถึงไว้ซึ่งก็เป็นรูปแบบการค้าที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศจีน New Retail เป็นการรวมเอาข้อดีของสองอย่างคือออฟไลน์และออนไลน์เข้าไว้ด้วยกัน เรียกได้ว่า New Retail เป็นกลยุทธ์ในการแข่งขันด้านดิจิทัลที่ขยายออกมาสู่โลกจริงของทางอาลีบาบา แนวคิดเรื่องการค้าปลีกแบบใหม่นี้แม้ว่าจะเป็นเรื่องใหม่แต่นี่คือการเปลี่ยนรูปแบบประสบการณ์การค้าปลีกในประเทศจีนเลยทีเดียว New Retail เป็นการสร้าง ecosystem โดยเอาช่องทางทั้งออฟไลน์และออนไลน์มาสร้างประสบการณ์ใหม่โดยมุ่งหวังเพื่อจะแก้ Pain-point ของแบรนด์และพ่อค้าแม่ค้ารวมถึงการมีส่วนร่วมและกิจกรรมของผู้บริโภคเป็นสำคัญ

นอกจากซูเปอร์มาร์เก็ตที่สามารถหยิบสินค้าสแกนบาร์โค้ดแล้วเดินออกไปได้ยังมีปฏิวัติรูปแบบร้านโชว์ห่วยแบบดั้งเดิมที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในชุมชนต่างๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจที่ทำกันมานานจากรุ่นสู่รุ่นเป็นธุรกิจรูปแบบครอบครัวที่ไม่มีการจัดการที่เป็นระบบ ส่วนใหญ่อาศัยความเคยชินในการจัดการ โดยการปรับปรุงนี้ได้มีการนำเอาดิจิทัลมาใช้ในการจัดการระบบร้านค้าผ่านแอปพลิเคชัน ทำให้การจัดการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้อสินค้า การสต็อกสินค้า การขนส่ง ฯลฯ มีความเป็นระบบที่ชัดเจน ตรวจสอบได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ลูกค้ายังสามารถชำระสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้ด้วยเช่นกัน การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ทำให้ร้านค้าปลีกเล็กๆ เหล่านี้มีความทันสมัยและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ไม่เพียงแต่ร้านโชว์ห่วยเท่านั้นที่มีการปรับเปลี่ยน ร้านค้าต่างๆ อย่างร้านอาหารดั้งเดิมก็สามารถขายอาหารโดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในระบบ เช่น สั่งอาหารได้จากโต๊ะผ่าน QR code ฯลฯ

สิ่งที่ไม่พูดถึงเลยคงไม่ได้นั่นก็คือห้างสรรพสินค้า ซึ่งห้างสรรพสินค้าของจีนค่อนข้างจะตรงกันข้ามกับที่อเมริกา อย่างที่ทราบกันว่าในอเมริกาหลายๆ ที่ได้ปิดตัวไปแล้ว แต่ที่ประเทศจีนกลับยังดูคึกคัก ลูกค้ายังอยากที่จะมาเดินดูสินค้ามาทดลองสินค้า ด้วยร้านค้าต่างๆ จะมี virtual shelves ที่เหมือนเป็นชั้นวางสินค้าเสมือน ลูกค้าสามารถทดลองสี เลือกแบบ มองหาขนาดได้เท่าที่พอใจ แม้จะไม่มีอยู่หน้าร้านแต่ก็สามารถเลือกสินค้าที่ต้องการได้บนหน้าจอ หาขนาด สี และอื่นๆ โดยการสแกนด้วยแอปพลิเคชัน สินค้าก็จะจัดส่งไปถึงบ้านเรียกได้ว่าแทบจะไม่มีเลยที่ลูกค้าจะไม่ได้สินค้ากลับไป หรือแม้แต่ในห้องน้ำผู้หญิงตามห้างสรรพสินค้าของจีนก็สามารถทดลองใช้ magic mirror หรือกระจกวิเศษ ลูกค้าสามารถลองเมคอัพคัลเลอร์ใหม่ๆ ได้ มีเครื่องตรวจวัดสภาพผิวและแนะนำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมให้ได้ หากถูกใจก็สามารถที่จะซื้อได้จากเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในนั้นเลย

จุดเด่นของกลยุทธ์ New Retail ของอาลีบาบาที่ดูเหมือนจะถูกพูดถึงอีกอย่างก็คือเรื่องของการซื้อรถยนต์ด้วยตู้จำหน่ายอัตโนมัติ ที่ลูกค้าไม่จำเป็นต้องเดินทางไปโชว์รูมหลายๆ แห่ง หรือต้องดูโบรชัวร์จำนวนมาก และที่สำคัญคือต้องทนกับความกดดันการตามตื้อจากพนักงานขาย เพราะตู้จำหน่ายรถยนต์อัตโนมัตินั้น ผู้บริโภคสามารถทดลองขับรถได้ถึงสามวันก่อนตัดสินใจซื้อได้ โดยเปิดตัวครั้งแรกด้วยรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ดซึ่งได้รับความสนใจมาก และกำลังเพิ่มจำนวนตู้จำหน่ายรถยนต์อัตโนมัตินี้มากขึ้น

การค้าปลีกของจีนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และดูเหมือนว่ากลยุทธ์ New Retail ได้ทำลายเส้นแบ่งระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ กุญแจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ก็คือโทรศัพท์มือถือ นั่นอาจเป็นเพราะผู้บริโภคชาวจีนใช้แอปพลิเคชันในการชำระเงินในชีวิตประจำวันกันอยู่แล้ว จึงเป็นการง่ายที่จะมอบประสบการณ์ใหม่เหล่านี้ให้ การนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ไม่ว่าจะเป็น Facial Recognition หรือระบบจดจำใบหน้า QR Code ระบบร้านค้าที่เอา AI เข้ามาจัดการ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วมากขึ้นๆ จากการแข่งขันกันของสองค่ายใหญ่คือ Tencent และ Alibaba ในบ้านเราผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกน่าจะลองศึกษาวิธีการนำมาประยุกต์ใช้บ้างหรืออาจปรึกษาผู้ที่เชี่ยวชาญหรือสามารถให้คำแนะนำและเชื่อมต่อโลกออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกันได้ก็น่าจะดีครับ