สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลจัดงานประชุมวิชาการระดับชาติ “ประชากรและสังคม 2566” ครั้งที่ 17

วันศุกร์ที่ 30 มิถุนายน 2566 เวลา 08.30 – 16.30 น. ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติ “ประชากรและสังคม 2566” ครั้งที่ 17 โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.อารี จำปากลาย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวต้อนรับและกล่าวรายงาน การจัดการประชุมครั้งนี้ เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้งานวิจัยด้านประชากรและสังคมในมุมมอง Life course ที่เกิดขึ้นในหนึ่งชั่วชีวิตของคน ณ ห้องอัศวิน แกรนด์ บอลรูม ชั้น 3 โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น จัดโดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

ภายในการประชุมฯ มีกิจกรรม อาทิ การปาฐกถาในพิเศษหัวข้อ “สวัสดิภาพตลอดช่วงชีวิตของคนไทย” โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมเวทีเสวนาโต๊ะกลมในหัวข้อ “หลากมิติ ในมุมมองเส้นทางชีวิต” โดย คุณสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผอ.ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็ก และครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และ รศ.ดร.อารี จำปากลาย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล มาร่วมวิเคราะห์มุมมองเส้นทางชีวิตในหลากมิติ ครอบคลุมทั้งด้านสิทธิมนุษยชน เศรษฐศาสตร์ การแพทย์และสาธารณสุข และการวิจัยและพัฒนา ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา

เมื่อในหนึ่งชั่วชีวิตของคน ๆ หนึ่ง ต้องพบการเปลี่ยนผ่านของชีวิตในหลาย ๆ ช่วงเวลา และในหลากหลายมิติ การประชุมครั้งนี้จึงได้มีการถ่ายทอดเรื่องราวประสบการณ์จาก 12 บทความวิชาการ เริ่มจากบทโหมโรง ของ รศ.ดร.อารี จำปากลาย และ รศ.ดร.รศรินทร์ เกรย์ เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงความหมายของเส้นทางชีวิตที่บทความนี้ใช้แทนคำว่า life course โดยผู้เขียนได้ย้อนภาพให้เห็นพัฒนาการของแนวคิดและหลักสำคัญ 4 ประการในการศึกษา ได้แก่ 1) เวลาและสถานที่เชิงประวัติศาสตร์ (historical time and place) 2) ช่วงเวลาในช่วงชีวิต (timing) 3) ชีวิตที่เชื่อมโยงกัน (linked life) และ 4) ศักยภาพของมนุษย์ในฐานะของผู้เลือกทางเดินชีวิตของตนเอง (human agency) รวมถึงการนำแนวคิดเส้นทางชีวิตมาใช้เป็นแนวทางในการศึกษาด้านประชากรและสังคม

จากนั้น จะนำเข้าสู่เนื้อหาการนำเสนอบทความวิจัยสั้น (research brief) โดยเริ่มจากหนึ่งชั่วชีวิตในมิติของครอบครัวและการเลี้ยงดู จาก 4 บทความ ที่เน้นความสำคัญของครอบครัว การเลี้ยงดู สภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะในครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวที่พบว่าไม่ใช่ครอบครัวที่ไร้คุณภาพ แต่มีความตั้งใจเลี้ยงดูบุตรหลานอย่างจริงจังมากกว่าครอบครัวที่สมบูรณ์ในหลาย ๆ ด้าน หรือการมองถึงเส้นทางชีวิตของเด็กสาวชาวอินโดนีเซียที่แต่งงานเมื่ออายุยังน้อยและต้องเปลี่ยนสถานภาพเป็นผู้ใหญ่ที่มาพร้อมความรับผิดชอบต่อครอบครัว นอกจากนี้ จากการศึกษาระยะยาวยังพบถึงผลกระทบของการย้ายถิ่นของพ่อแม่ที่เป็นเรื่องปกติในสังคมว่า ได้ส่งผลต่อสุขภาพจิตของเด็ก และสุขภาพจิตในวัยเด็กมีผลต่อสุขภาพจิตเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น รวมถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อประสบการณ์ชีวิตวัยเด็กที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงอย่างต่อเนื่องในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการอยู่อาศัยของแม่ในบ้าน เศรษฐกิจครอบครัว และความเชื่อของครอบครัวเรื่องการทำโทษเด็ก “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี”

จากมิติครอบครัวและการเลี้ยงดู จะนำไปสู่มิติในระดับบุคคล จาก 3 บทความ ที่เป็นมิติด้านพฤติกรรมเชิงวิถีชีวิต: เส้นทางสู่สุขภาพดีชั่วชีวิต ที่มีบทความที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคผักและผลไม้ เครื่องดื่มรสหวาน การออกกำลังกาย ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้เป็นผลจากประสบการณ์ หรือเหตุการณ์ที่ผ่านมาในชีวิต โดยเริ่มจากการนำเสนอถึงพัฒนาการของการรณรงค์การบริโภคผักและผลไม้ที่เหมาะสมกับพื้นที่เมืองและชนบทที่มีอิทธิพลต่อการกินผักและผลไม้เพียงพอที่เพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ ด้านการบริโภครสหวาน การจัดเก็บภาษีความหวานจะช่วยให้เกิดประโยชน์ด้านสุขภาพในระดับบุคคลและระดับประเทศได้ ซึ่งนอกจากจำนวนปีสุขภาวะตลอดชีพของประชากรเพิ่มขึ้น 1.9 ล้านปี หรือเฉลี่ย 2 สัปดาห์ต่อคนแล้ว ภาครัฐยังประหยัดค่าใช้จ่ายรายปีสำหรับการรักษาโรคที่เกี่ยวข้องได้ถึง 121.4 ล้านบาท และสุดท้าย ในประเด็นของการมีกิจกรรทางกายที่ไม่เพียงพอที่จะนำไปสู่ความเสี่ยงของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง การส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายควรออกแบบให้เหมาะสมกับเพศและอายุ

มิติสุดท้ายเป็นมิติรูปแบบการอยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมเพื่อคุณภาพชีวิตทุกช่วงวัย จาก 4 บทความที่ให้ภาพในหลายมิติทั้งด้านรูปแบบการอยู่อาศัย เมื่อรูปแบบการอยู่อาศัยของคนหนึ่งไม่ได้คงอยู่ตายตัว แต่เปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วงวัย โดยรูปแบบการอยู่อาศัยมีความสำคัญต่อการสนับสนุนซึ่งกันและกันของสมาชิกในครัวเรือน ในแง่ทรัพยากรเชิงครอบครัว และทรัพยากรทางเศรษฐกิจ ในมิตินี้ยังมีประเด็นน่าสนใจคือ ผู้สูงอายุที่ต้องย้ายจากบ้านที่คุ้นเคยไปสู่ที่พักในลักษณะของสถานดูแล ความท้าทายที่จะพัฒนาที่อยู่อาศัยเชิงสถาบันให้เหมือนได้อยู่บ้านจะดำเนินได้อย่างไร ถัดจากประเด็นการอยู่อาศัยของคนทุกช่วงวัย จะเข้าสู่เรื่องการรับรู้ด้านมลพิษทางอากาศที่จะเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงชีวิต โดยเฉพาะวัยสูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการได้รับฝุ่น PM2.5 จึงต้องเพิ่มความตระหนักให้มากในเรื่องความเสี่ยงเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ ขณะเดียวกันก็ควรปรับรูปแบบการสื่อสารให้เหมาะสมกับคนในทุกช่วงวัย และสุดท้ายเป็นการนำเสนอบทความที่ถ่ายทอดถึงประสบการณ์ชีวิตจากภัยสงครามที่ส่งผลต่อภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (PTSD) และนำไปสู่พฤติกรรมการทำร้ายคู่สมรสของผู้สูงอายุชาวเวียดนาม

ผู้สนใจสามารถติดตามอ่านบทความวิจัยสั้น (Research brief) จากงานประชุมได้ที่
https://ipsr.mahidol.ac.th/annual-conference-17th/

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทรศัพท์ 02-441-0201-4 ต่อ 202